12 มีนาคม 2552

แนวปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจในการดำเนินคดีอาญาที่มีการเปิดเพลงคาราโอเกะ

กระทรวงพาณิชย์ ได้มีหนังสือ ที่ พณ 0705/3163 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ขอความร่วมมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้กำหนดแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจในการดำเนินคดีอาญาที่มีการเปิดเพลงคาราโอเกะ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ให้ความร่วมมือ โดยมีหนังสือ ที่ 0004.6/5938 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2547 เรียน รองผบ. ตร., ผช.ผบ.ตร., ผบช, ผบก. หน่วยขึ้นตรงต่อ ตร. และ ผบ. สบส. เรื่อง กำชับแนวทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานตำรวจในการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์เพลง (เพิ่มเติม) โดยมีแนวทางปฏิบัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือ ดังนี้
1. การดำเนินคดีอาญากรณีที่มีการเปิดเพลงคาราโอเกะที่มีผู้อ้างสิทธิจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อนกัน ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการดังนี้

(1) ไม่ให้ดำเนินการจับกุมผู้ประกอบการคาราโอเกะ โดยจะต้องตรวจสอบรายชื่อเพลงที่มีการขอให้จับกุมกับบัญชีรายชื่อเพลงที่มีผู้อ้างสิทธิจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อนที่จัดทำโดยกรมทรัยพ์สินทางปัญญา และไม่ให้ดำเนินการใด ๆ จนกว่าจะได้ตรวจสอบสิทธิของผู้กล่าวหาให้เรียบร้อยก่อน

(2) ให้พนักงานตำรวจแจ้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อตรวจสอบในเรื่องสิทธิให้ชัดเจนก่อน

(3) หากได้รับแจ้งจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าบุคคลใดมีสิทธิในเพลงดังกล่าวแล้ว ให้พนักงานตำรวจดำเนินต่อไป โดยผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ก่อนนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมผู้กระทำผิด ไม่ว่ากรณีใดห้ามไม่ให้จับกุมก่อนผู้เสียหายดำเนินการร้องทุกข์ และไม่ให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าที่ไม่ต้องมีการร้องทุกข์ก่อน

(4) การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่เป็นภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีดนตรีร้านเปิดให้บริการคาราโอเกะ และตู้เพลงหยอดเหรียญ หรือร้านอื่นที่ประกอบการทำนองเดียวกันให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แน่ชัดก่อนว่า ผู้ร้องทุกข์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้ได้รับสิทธิหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของผู้มีสิทธิที่แท้จริง และเอกสารที่นำมาแสดงเป็นเอกสารที่ถูกต้อง (5) การดำเนินการตามข้อ (4) เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างไร ได้สิทธิมาโดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรม เป็นผู้ประพันธ์ คำร้องทำนองในงานดนตรีที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น หากรับโอนลิขสิทธิ์มาจะต้องแสดงหลักฐานประกอบโดยไม่ขาดสายจนถึงผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าว เอกสารที่นำมาแสดงนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจะต้องรวบรวมไว้

(6) กรณีมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์จะต้องเป็นฉบับจริง และจะต้องรวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน วันที่มีการร้องทุกข์จะต้องเป็นวันที่หนังสือมอบอำนาจยังมีผลอยู่

(7) ก่อนรับคำร้องทุกข์ ให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบัตรตัวแทนซึ่งออกให้โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ และในการจับกุมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับกุมตรวจสอบบัตรตัวแทนได้

(8) เจ้าพนักงานตำรวจไม่ควรร่วมกับผู้เสียหายจับกุมในกรณีที่มีการล่อซื้อโดยพวกของผู้เสียหายเป็นผู้หยอดเหรียญเปิดเพลงคาราโอเกะ

(9) การลงบันทึกประจำวัน ให้ระบุให้ชัดเจนว่าจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอะไร ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ หากมีการยอมความ จะต้องระบุจำนวนเงินที่มีการยอมความด้วย

(10) ในการกำหนดหลักประกันตัวผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนกำหนดตามสมควรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

(11) กรณีที่มีการตกลงระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้รับมอบอำนาจกับ ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์และมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะต้องมีการลงประจำวันให้ชัดเจนว่าพนักงานตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร

(12) ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งต้องให้ผู้ถูกจับกุมคัดสำเนาบันทึกประจำวันและเอกสารหลักฐานที่แสดงสิทธิในคดีด้วย

2. การดำเนินคดีอาญากรณีที่มีการเปิดเพลงคาราโอเกะอื่นๆ ที่ไม่มีการอ้างสิทธิจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ซ้ำซ้อน ขอให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินการดังนี้

(1) ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ก่อนนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมผู้กระทำผิด ไม่ว่ากรณีใดห้ามไม่ให้จับกุมก่อนผู้เสียหายดำเนินการร้องทุกข์ และไม่ให้ถือว่าเป็นคดีความผิดซึ่งหน้าที่ไม่ต้องมีการร้องทุกข์ก่อน

(2) การร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการที่เป็นภัตตาคาร ร้านอาหารที่มีดนตรี ร้านเปิดให้บริการคาราโอเกะ และตู้เพลงหยอดเหรียญ หรือร้านอื่นที่ประกอบการทำนองเดียวกันให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบเอกสารหลักฐานให้แน่ชัดก่อนว่า ผู้ร้องทุกข์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือเป็นผู้ได้รับสิทธิหรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าของผู้มีสิทธิที่แท้จริง และเอกสารที่นำมาแสดงเป็นเอกสารที่ถูกต้อง

(3) การดำเนินการตามข้อ (2) เจ้าพนักงานตำรวจจะต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างไร ได้สิทธิมาโดยวิธีใด เช่น เป็นผู้สร้างสรรค์งานดนตรีกรรม หรือเป็นผู้ประพันธ์ คำร้อง ทำนอง ในงานดนตรีที่อ้างว่าละเมิดลิขสิทธิ์นั้น หากรับโอนลิขสิทธิ์มาจะต้องแสดงหลักฐานประกอบโดยไม่ขาดสายจนถึงผู้สร้างสรรค์งานเพลงดังกล่าว เอกสารที่นำมาแสดงนั้นเจ้าพนักงานตำรวจจะต้องรวบรวมไว้

(4) กรณีมอบอำนาจให้ร้องทุกข์ หนังสือมอบอำนาจให้ร้องทุกข์จะต้องเป็นฉบับจริง และจะต้องรวบรวมไว้ในสำนวนการสอบสวน วันที่มีการร้องทุกข์จะต้องเป็นวันที่หนังสือมอบอำนาจยังมีผลอยู่

(5) ก่อนรับคำร้องทุกข์ ให้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจสอบบัตรตัวแทน ซึ่งออกให้โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นบัตรที่ยังไม่หมดอายุ และในการจับกุมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ถูกจับกุมตรวจสอบบัตรตัวแทนได้

(6) เจ้าพนักงานตำรวจไม่ควรร่วมกับผู้เสียหายจับกุมในกรณีที่มีการล่อซื้อโดยพวกของผู้เสียหายเป็นผู้หยอดเหรียญเปิดเพลงคาราโอเกะ

(7) การลงบันทึกประจำวัน ให้ระบุให้ชัดเจนว่าจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์เพลงอะไร ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ผู้ใดเป็นผู้มีอำนาจจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ หากมีการยอมความ จะต้องระบุจำนวนเงินที่มีการยอมความด้วย

(8) ในการกำหนดหลักประกันตัวผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนกำหนดตามสมควรอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

(9) กรณีที่มีการตกลงระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้รับมอบอำนาจกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ และมีเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จะต้องมีการลงประจำวันให้ชัดเจนว่าเจ้าพนักงานตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร

(10) ให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายรวมทั้งต้องให้ผู้ถูกจับกุมคัดสำเนาบันทึกประจำวันและเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงสิทธิในคดีด้วย

http://www.ipthailand.org/ipthailand/index.php?option=com_content&task=category&sectionid=21&id=489&Itemid=396

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น